สรุปประเด็น #แจ๊คหม่าเตรียมวางมือแบบค่อยเป็นค่อยไป
.
.
สำนักข่าว The New York Times ของสหรัฐฯ คือสื่อแรกที่รางานข่าวใหญ่ที่ว่า นายแจ็ก หม่า ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานบริษัทอาลีบาบากรุ๊ป เตรียมประกาศที่จะเกษียณตัวเองออกจากการเป็นผู้นำของบริษัทอาลีบาบา เพื่อที่จะอุทิศตนให้กับวงการการศึกษาตามที่เขาใฝ่ฝัน เพราะก่อนที่จะประสบความสำเร็จกับบริษัทอีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่ของเขา ซึ่งปัจจุบันมีมูลค่าทางการตลาดสูงถึง 420,000 ล้านดอลลาร์นี้ นายแจ็ก หม่า เคยเป็นครูสอนภาษาอังกฤษมาอย่างยาวนาน และนั่นคืออาชีพที่เขารักมาก
.
.
อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าข่าวการเกษียณอายุของเเจ็ก หม่านั้น จะเป็นการพูดเกินความจริงไปอยู่มาก โดยเว็บไซต์ TechCrunch รายงานว่า หลังจากที่มีการพูดถึงเป็นวงกว้างไปทั่วโลกเกี่ยวกับประเด็นนี้ โฆษกของบริษัทอาลีบาบาได้ออกมายืนยันว่า เว็บไซต์ The New York Times นำเสนอข้อมูลที่บิดเบือนไปจากสิ่งที่ แจ็ก หม่า เคยให้สัมภาษณ์ไว้ก่อนหน้านี้
.
.
ซึ่งท้ายที่สุด นายหม่าก็ได้ตัดสินใจออกมาให้สัมภาษณ์กับ South China Morning Post สื่อใหญ่ของจีนที่นายหม่าได้ซื้อกิจการไปในปี 2016 โดยได้ระบุอย่างชัดเจนว่า เขาต้องการที่จะถอยออกมาจากการเป็นผู้นำของบริษัทอย่างค่อยเป็นค่อยไป ด้วยการเดินตามแผนการโอนย้ายอำนาจให้กับคนรุ่นใหม่ที่จะเข้ามาดูแลบริษัท
.
.
เมื่อเว็บไซต์ TechCrunch ติดต่อไปยังบริษัทอาลีบาบา เพื่อขอความเห็นเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องนี้ ทางอาลีบาบาได้ยกรายละเอียดการให้สัมภาษณ์ของแจ็ก หม่า ขึ้นมา และย้ำว่าแผนการที่นายหม่าจะออกแถลงนั้นคือแผนการถ่ายโอนอำนาจไปยังผู้นำคนใหม่ของบริษัทที่จะต้องใช้เวลานานอย่างมากจนกว่ากระบวนการทั้งหมดจะเสร็จสิ้น เพราะฉะนั้น เป็นไปไม่ได้เลยที่นายหม่าจะยุติบทบาทของตัวเองอย่างกระทันหันตามที่เป็นข่าว และในส่วนของแผนการที่ว่านั้นจะมีการประกาศในวันที่ 10 กันยายน ซึ่งตรงกับวันคล้ายวันเกิดของนายหม่านั่นเอง
.
.
.
🔥 สำนักข่าว CNBC เปิดเผยรายละเอียดแผนการถ่ายโอนอำนาจดังกล่าวเช้าวันนี้ ซึ่งระบุว่านายแดเนียล จาง จะเข้ารับตำแหน่งประธานบริหารอาลีบาบาแทนแจ็ก หม่า ในวันที่ 10 กันยายน ปี 2019 ส่วนระหว่างนี้นายหม่าเองก็จะดำรงตำแหน่งเป็น Executive Chairman ต่ออีก 12 เดือนเต็มเพื่อเป็นพี่เลี้ยงให้กับนายแดเนียลจางจนกว่าทุกอย่างจะเข้าที่เข้าทาง หลังจากนั้นนายหม่าจึงจะลดบทบาทลงไปอีก โดยดำรงตำแหน่งอยู่ในคณะกรรมการของบริษัท หรือ Board of Director จนถึงการประชุมประจำปีของอาลีบาบาในปี 2020 🔥
.
.
.
โดยแจ็ก หม่า ระบุในจดหมายสำคัญถึงผู้บริโภคและผู้ถือหุ้นว่าเขาใช้เวลาในการไตร่ตรองถึงแผนการครั้งนี้นานถึง 10 ปีเต็ม ซึ่งถึงเวลาอันสมควรที่สุดแล้วที่จะส่งไม้ต่อให้กับนายแดเนียลและทีมงานของเขา ซึ่งจากประสบการณ์การทำงานร่วมกันมา เขารู้ว่าคนกลุ่มนี้มีความพร้อมมากแค่ไหน ส่วนตัวนายหม่าเองก็จะไม่ได้ไปไหนเพราะจะยังคงอยู่ในคณะหุ้นส่วนผู้ร่วมก่อตั้งต่อไป แต่อาจจะเดินหน้าพัฒนาด้านการศึกษาตามที่เขาตั้งใจมาโดยตลอด
.
.
การเปลี่ยนแปลงทางอำนาจของผู้นำบริษัทอาลีบาบากรุ๊ปนั้นถือว่าไม่ใช่ครั้งแรก หากย้อนกลับไปในปี 2013 ที่ผ่านมา แจ็ก หม่า ได้ยุติบทบาทของตัวเองลงจากตำแหน่งสำคัญอย่างประธานกรรมการบริหาร หรือ CEO ซึ่งถือเป็นตำแหน่งสูงสุดในการบริหารงาน มาเป็นประธานบริษัท หรือ Chairman แทน และยืนยันว่าเขายังคงจะทำงานเพื่อองค์กรต่อไป พร้อมยังกล่าวอีกด้วยว่าการเกษียณตัวเองออกจากบริษัทโดยสิ้นเชิงนั้นแทบจะไม่มีความเป็นไปได้เลย
.
.
โดยในปี 2013 นายโจนาธาน ลู คือบุคคลที่ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำของบริษัทในฐานะ CEO คนใหม่แทนแจ็ก หม่า ซึ่งนายลูเป็นผู้ที่อยู่เคียงข้างบริษัทอาลีบาบามาอย่างยาวนานกว่า 13 ปี ในฐานะประธานฝ่ายปฏิบัติการของบริษัท และเขายังเป็นผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จเมื่อครั้งบริษัทอาลีบาบาเข้าตลาดหลักทรัพย์ด้วยมูลค่าหุ้น IPO 25,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2015 แต่ในปีเดียวกันนั้น ตำแหน่ง CEO กลับตกไปเป็นของผู้นำคนใหม่แทน นั่นคือนายแดเนียล จาง ที่เข้ามารับไม้ต่อจนถึงปัจจุบัน เนื่องจากมีรายงานข่าวว่านายโจนาธาน ลู ไม่ได้รับความไว้วางใจจากนายหม่าอีกต่อไป
.
.
ภายหลังจากการลงจากตำแหน่ง CEO ในครั้งนั้น แจ็ก หม่า ใช้เวลามากถึง 40 เปอร์เซ็นต์ของปีอยู่นอกออฟฟิศ ด้วยการเดินทางไปรอบโลกและขึ้นกล่าวสุนทรพจน์มากมายเกี่ยวกับประสบการณ์การทำธุรกิจของเขา รวมไปถึงการบรรยายในหัวข้อต่าง ๆ มากมายเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของยุคโลกาภิวัตน์ ความสามารถของเทคโนโลยีที่จะเข้ามาช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของมนุษย์ รวมถึงไอเดียในการสร้างมูลนิธิ และเป้าหมายด้านการพัฒนาการศึกษาที่เขาให้ความสำคัญอย่างยิ่ง ซึ่งเขายังพูดอยู่บ่อยครั้งว่าเขาน่าจะมีความสามารถในการเป็นครูที่ดีมากกว่าการเป็น CEO ของบริษัทด้วยซ้ำ
.
.
แม้ว่าในปัจจุบันนายแดเนียล จาง คือผู้ดำรงตำแหน่งสูงสุดในอาลีบาบา แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าการดำรงอยู่ของแจ็ก หม่า ถือเป็นบุคคลที่ไม่มีใครแทนที่ได้ และยังคงได้รับความสนใจจากทั่วโลกมากที่สุดอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบัน นายหม่านั้นมีหน้าที่สำคัญอย่างยิ่งในการเชื่อมสัมพันธ์ทางการเมืองกับทุกประเทศที่เข้าไปทำธุรกิจ อย่างเช่นการเข้าพบนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ และการเจรจากับผู้นำหลากหลายประเทศในแถบภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งรวมถึงไทยด้วย เพื่อขยายโอกาสทางธุรกิจให้เติบโตอย่างไม่สะดุดในพื้นที่ที่เป็นตลาดใหญ่ของอาลีบาบา
.
.
นายหม่าให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ South China Morning Post ตอนหนึ่งว่า เมื่อ 10 ปีที่แล้ว เขาเคยนั่งปรึกษากับผู้บริหารอาวุโสของบริษัทอาลีบาบากรุ๊ปถึงความเป็นไปได้และสิ่งที่จะเกิดขึ้นหากว่านายหม่ายุติบทบาทผู้บริหารลง แต่ในขณะนี้ เขารู้สึกภาคภูมิในอย่างมากกับความสำเร็จที่อาลีบาบามีอยู่ในทุกวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างบริษัท วัฒนธรรมองค์กร การบริหารงาน และระบบการพัฒนาคนที่เขาพร้อมจะผลักดันคนรุ่นใหม่ให้ก้าวขึ้นมาบริหารงานแทนเขาในอนาคตเพื่อให้การเปลี่ยนผ่านนั้นราบลื่นที่สุด
.
.
ที่มา Forbes / SCMP / The New York Times / CNBC / TechCrunch
Search